ซอต์แวร์คอมพิวเตอร์และการเลือกใช้ให้เหมาะสม

บทที่ 2 ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์และการเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงาน




- ความหมายของซอฟต์แวร์

      ซอฟต์แวร์ (Software) หมายถึงชุดคำสั่งหรือโปรแกรมที่ใช้สั่งงานให้คอมพิวเตอร์ทำงาน 
ซอฟต์แวร์จึงหมายถึงลำดับขั้นตอนการทำงานที่เขียนขึ้นด้วยคำสั่งของคอมพิวเตอร์ 
คำสั่งเหล่านี้เรียงกันเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จากที่ทราบมาแล้วว่าคอมพิวเตอร์ทำงานตามคำสั่ง 
การทำงานพื้นฐานเป็นเพียงการกระทำกับข้อมูลที่เป็นตัวเลขฐานสอง ซึ่งใช้แทนข้อมูลที่เป็นตัวเลข 
ตัวอักษร รูปภาพ หรือแม้แต่เป็นเสียงพูดก็ได้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้สั่งงานคอมพิวเตอร์จึงเป็น
ซอฟต์แวร์ เพราะเป็นลำดับขั้นตอนการทำงานของคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งทำงานแตก
ต่างกันได้มากมายด้วยซอฟต์แวร์ที่แตกต่างกัน ซอฟต์แวร์จึงหมายรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทุก
ประเภทที่ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้

ความจำเป็นของการใช้ซอฟต์แวร์

         การที่เราเห็นคอมพิวเตอร์ทำงานให้กับเราได้มากมาย เพราะว่ามีผู้พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์
มาให้เราสั่งงานคอมพิวเตอร์ ร้านค้าอาจใช้คอมพิวเตอร์ทำบัญชีที่ยุ่งยากซับซ้อน บริษัทขายตั๋วใช้
คอมพิวเตอร์ช่วยในระบบการจองตั๋ว คอมพิวเตอร์ช่วยในเรื่องกิจการงานธนาคารที่มีข้อมูลต่าง ๆ
 มากมาย คอมพิวเตอร์ช่วยงานพิมพ์เอกสารให้สวยงาม เป็นต้น การที่คอมพิวเตอร์ดำเนินการให้
ประโยชน์ได้มากมายมหาศาลจะอยู่ที่ซอฟต์แวร์ ซอฟต์แวร์จึงเป็นส่วนสำคัญของระบบคอมพิวเตอร์ 
หากขาดซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ก็ไม่สามารถทำงานได้ ซอฟต์แวร์จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และมีความสำคัญ
มาก และเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ทำให้ระบบสารสนเทศเป็นไปได้ตามที่ต้องการซอฟต์แวร์หรือ
โปรแกรมคอมพิวเตอร์จึงเป็นส่วนสำคัญที่ควบคุมการทำงานของคอมพิวเตอร์ให้ดำเนินการตาม
แนวความคิดที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว คอมพิวเตอร์ต้องทำงานตามโปรแกรมเท่านั้น 
ไม่สามารถทำงานที่นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในโปรแกรม

ภาษาคอมพิวเตอร์ (Programming Languages)

            เมื่อมนุษย์ต้องการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการทำงาน มนุษย์จะต้องบอกขั้นตอนวิธีการให้
คอมพิวเตอร์ทราบ การที่บอกสิ่งที่มนุษย์เข้าใจให้คอมพิวเตอร์รับรู้ และทำงานได้อย่างถูกต้อง 
จำเป็นต้องมีสื่อกลาง ถ้าเปรียบเทียบกับชีวิตประจำวันแล้ว เรามีภาษาที่ใช้ในการติดต่อซึ่งกันและกัน 
เช่นเดียวกันถ้ามนุษย์ต้องการจะถ่ายทอดความต้องการให้คอมพิวเตอร์รับรู้และปฏิบัติตาม  
จะต้องมีสื่อกลางสำหรับการติดต่อเพื่อให้คอมพิวเตอร์รับรู้ เราเรียกสื่อกลางนี้ว่า ภาษาคอมพิวเตอร์

ภาษาคอมพิวเตอร์ในแต่ละยุคประกอบด้วย

1. ภาษาเครื่อง (Machine Languages)

            เนื่องจากคอมพิวเตอร์ทำงานด้วยสัญญาณทางไฟฟ้า ใช้แทนด้วยตัวเลข 0 และ 1 ได้ 
ผู้ออกแบบคอมพิวเตอร์ใช้ตัวเลข 0 และ 1 นี้เป็นรหัสแทนคำสั่งในการสั่งงานคอมพิวเตอร์ซึ่ง 
คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจได้ เราเรียกเลขฐานสองที่ประกอบกันเป็นชุดคำสั่งและใช้สั่งงาน
คอมพิวเตอร์ว่าภาษาเครื่องการใช้ภาษาเครื่องถึงแม้คอมพิวเตอร์จะเข้าใจได้ทันที แต่มนุษย์
จะมีข้อยุ่งยากมากเพราะเข้าใจและจดจำภาษาเครื่องได้ยาก ดังนั้นจึงมีผู้สร้างภาษาคอมพิวเตอร์
ในรูปแบบอื่นที่เป็นตัวอักษร

2. ภาษาแอสเซมบลี (Assembly Languages)

            เป็นภาษาคอมพิวเตอร์ในยุคที่ 2 ถัดจากภาษาเครื่อง ภาษาแอสเซมบลีช่วยลดความยุ่งยาก
ในการเขียนโปรแกรมเพื่อติดต่อกับคอมพิวเตอร์ แต่อย่างไรก็ตาม ภาษาแอสเซมบลีก็ยังมีความ
ใกล้เคียงภาษาเครื่องอยู่มาก โดยใช้ตัวแปลภาษาที่เรียกว่าแอสเซมเบลอร์ (Assembler) 
เพื่อแปลชุดภาษาแอสเซมบลีให้เป็นภาษาเครื่อง

3. ภาษาระดับสูง (High-Level Languages)

            เป็นภาษาคอมพิวเตอร์ในยุคที่ 3 เริ่มมีการใช้ชุดคำสั่งที่เรียกว่า Statements ที่มีลักษณะเป็น
ประโยคภาษาอังกฤษ ทำให้ผู้เขียนโปรแกรมสามารถเข้าใจชุดคำสั่งเพื่อสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานง่าย
ขึ้น ผู้คนทั่วไปสามารถเรียนรู้และเขียนโปรแกรมได้ง่ายขึ้น เนื่องจากภาษาระดับสูงใกล้เคียง
ภาษามนุษย์ ตัวแปลภาษาระดับสูงเพื่อให้เป็นภาษาเครื่องมีอยู่ 2 ชนิด คือ คอมไพเลอร์ (Compiler) 
และ อินเทอร์พรีเตอร์ (Interpreter)

            คอมไพเลอร์ จะทำการแปลโปรแกรมที่เขียนเป็นภาษาระดับสูงทั้งโปรแกรมให้เป็นภาษา
เครื่องก่อน แล้วจึงให้คอมพิวเตอร์ทำงานตามภาษาเครื่องนั้น
            อินเทอร์พรีเตอร์ จะทำการแปลทีละคำสั่ง แล้วให้คอมพิวเตอร์ทำตามคำสั่งนั้น เมื่อทำเสร็จ
แล้วจึงแปลคำสั่งลำดับต่อไป
ดังนั้นข้อแตกต่างระหว่างคอมไพเลอร์กับอินเทอร์พรีเตอร์จึงอยู่ที่การแปลทั้งโปรแกรมหรือแปลทีละ
คำสั่ง สำหรับตัวอย่างภาษาระดับสูง ได้แก่ ภาษาโคบอล(COBOL) ฟอร์แทรน (FORTRAN) 
เบสิก (Basic) ปาสคาล (Pascal) และภาษาซี(C) เป็นต้น

3.4 ภาษายุคที่ 4 (Fourth-Generation Languages: 4GL)

เนื่องจากภาษาระดับสูงนั้นเป็นภาษาที่ต้องกำหนดขั้นตอนการทำงาน(Procedural) จึงทำให้ในบาง
ครั้งจำเป็นต้องเขียนโค้ดโปรแกรมที่ยาวยืดเยื้อกว่าจะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ดังนั้นจึงเกิดภาษายุค
ที่ 4 ขึ้น ซึ่งเป็นภาษาที่ไม่ต้องกำหนดขั้นตอนการทำงาน (Non-Procedural) เพียงแต่สั่งว่าต้องการ
ข้อมูลอะไร ก็สามารถแสดงผลลัพธ์ได้ตามต้องการ ตัวอย่างภาษายุคที่ 4 เช่น ชุดคำสั่งภาษา 
SQL (Structured Query Language)

3.5 ภาษาเชิงวัตถุ (Object-Oriented Languages)

เป็นภาษาคอมพิวเตอร์ในยุคที่ 5 ที่เรียกว่า การเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุ 
(Object-Oriented Programming: OOP) ซึ่งจะมองทุกสิ่งเป็นวัตถุ (Object) โดยวัตถุจะประกอบด้วย
ข้อมูล (Data) และวิธีการ (Method) และจะมีคลาส (Class) เป็นตัวกำหนดคุณสมบัติของวัตถุ 
รวมทั้งความสามารถในการถ่ายทอดคุณสมบัติ (Inheritance) การ Encapsulation และการนำกลับมา
ใช้ใหม่   ภาษาเชิงวัตถุสามารถนำมาพัฒนาระบบงานที่มีความซับซ้อนได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างภาษานี้
เช่น Visual Basic, C++ และ JAVA เป็นต้น

4. ชนิดของซอฟต์แวร์

ในบรรดาซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีผู้พัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานกับคอมพิวเตอร์มีมากมาย 
ซอฟต์แวร์เหล่านี้อาจได้รับการพัฒนาโดยผู้ใช้งานเองหรือผู้พัฒนาระบบหรือผู้ผลิตจำหน่าย 
หากแบ่งแยกชนิดของซอฟต์แวร์ตามสภาพการทำงาน แบ่งแยกซอฟต์แวร์ได้เป็น 2 ประเภท คือ

- ซอฟต์แวร์ระบบ (system software)

        คือซอฟต์แวร์ที่บริษัทผู้ผลิตสร้างขึ้นมาเพื่อใช้จัดการกับระบบคอมพิวเตอร์ หน้าที่การทำงานของ
ซอฟต์แวร์ระบบคือดำเนินงานพื้นฐานต่าง ๆ ของระบบคอมพิวเตอร์ เช่น รับข้อมูลจากคีย์บอร์ดแล้ว
แปลความหมายให้คอมพิวเตอร์เข้าใจ นำข้อมูลไปแสดงผลบนจอภาพหรือนำออกไปยังเครื่องพิมพ์ 
จัดการข้อมูลบนหน่วยความจำ

        เมื่อเราเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นมา ทันทีที่มีการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับคอมพิวเตอร์ 
คอมพิวเตอร์จะทำงานตามโปรแกรมทันที โปรแกรมแรกที่สั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานนี้เป็น
ซอฟต์แวร์ระบบ ซอฟต์แวร์ระบบอาจเก็บไว้ในรอมหรือในแผ่นจานแม่เหล็ก(สมัยก่อน)
 หากไม่มีซอฟต์แวร์ระบบคอมพิวเตอร์จะทำงานไม่ได้  ซอฟต์แวร์ระบบยังใช้เป็นเครื่องมือ
ในการพัฒนาซอฟต์แวร์อื่น ๆ และยังรวมไปถึงซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการแปลภาษาต่าง ๆ

ซอฟท์แวร์ระบบ

        คอมพิวเตอร์ประกอบด้วย หน่วยรับเข้า หน่วยแสดงผล หน่วยความจำ และหน่วยประมวลผล 
ในการทำงานของคอมพิวเตอร์จำเป็นต้องมีการดำเนินงานกับหน่วยต่างๆ ดังนั้นจึงต้องมีซอฟต์แวร์
ระบบเพื่อใช้จัดการระบบเหล่านี้

หน้าที่หลักของซอฟต์แวร์ระบบประกอบด้วย

        จัดการหน่วยรับเข้าและหน่วยแสดงผล เช่น ส่งรหัสตัวอักษรออกทางจอภาพหรือเครื่องพิมพ์ 
และติดต่อกับอุปกรณ์รับเข้าและแสดงผลอื่น ๆ จัดการหน่วยความจำเพื่อนำข้อมูลจากแผ่นบันทึก
(เช่นฮาร์ดดิสก์หรือ handy drive)มาบรรจุยังหน่วยความจำหลัก หรือในทำนองกลับกันคือนำข้อมูล
จากหน่วยความจำหลักมาเก็บไว้ในแผ่นบันทึก
ใช้เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้งานกับคอมพิวเตอร์ให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น

ระบบปฏิบัติการ

        ระบบปฏิบัติการหรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า โอเอส (Operating System: OS) เป็นซอฟต์แวร์ใช้ในการ
ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ เครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องจะต้องมีซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการนี้ ระบบปฏิบัติ
การที่นิยมใช้กันมากและเป็นที่รู้จักกันดี เช่น ดอส (Disk Operating System: DOS) 
วินโดวส์ (Windows) โอเอสทู (OS/2) ยูนิกซ์ (UNIX)

1) ดอส เป็นซอฟต์แวร์จัดระบบงานที่พัฒนามานานแล้ว การใช้งานจึงใช้คำสั่งเป็นตัวอักษร
 ดอสเป็นซอฟต์แวร์ที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้ใช้ไมโครคอมพิวเตอร์

2) วินโดวส์ เป็นระบบปฏิบัติการที่พัฒนาต่อจากดอส เพื่อเน้นการใช้งานที่ง่ายขึ้น โดยงานแต่ละงานจะ
อยู่ในกรอบช่องหน้าต่างที่แสดงผลบนจอภาพ การใช้งานเน้นรูปแบบกราฟิก ผู้ใช้งานสามารถใช้เมาส์
เลื่อนตัวชี้ตำแหน่งเพื่อเลือกตำแหน่งที่ปรากฏบนจอภาพ ทำให้ใช้งานคอมพิวเตอร์ได้ง่าย วินโดวส์จึง
ได้รับความนิยมในปัจจุบัน

3) โอเอสทู เป็นระบบปฏิบัติการแบบเดียวกับวินโดวส์ แต่บริษัทผู้พัฒนาคือบริษัทไอบีเอ็ม เป็นระบบ
ปฏิบัติการที่ให้ผู้ใช้สามารถใช้ทำงานได้หลายงานพร้อมกัน และการใช้งานก็เป็นแบบกราฟิกเช่นเดียว
กับวินโดวส์

4) ยูนิกซ์ เป็นระบบปฏิบัติการที่พัฒนามาตั้งแต่ครั้งที่ใช้กับเครื่องมินิคอมพิวเตอร์ ระบบปฏิบัติการ
ยูนิกซ์เป็นระบบปฏิบัติการที่สามารถใช้งานได้หลายงานพร้อมกัน และทำงานได้หลาย ๆ งานในเวลา
เดียวกัน ยูนิกซ์จึงใช้ได้กับเครื่องที่เชื่อมโยงและต่อกับเครื่องปลายทางได้หลายเครื่องพร้อมกัน

        ระบบปฏิบัติการยังมีอีกมาก โดยเฉพาะระบบปฏิบัติการที่ใช้ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อให้
คอมพิวเตอร์ทำงานร่วมกันเป็นระบบ เช่น ระบบปฏิบัติการเน็ตแวร์ วินโดวส์เอ็นที

ชนิดของระบบปฏิบัติการสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ชนิดด้วยกัน คือ

ประเภทใช้งานเดียว (Single-tasking)

        ระบบปฏิบัติการประเภทนี้จะกำหนดให้คอมพิวเตอร์ใช้งานได้ครั้งละหนึ่งงานเท่านั้น ใช้ในเครื่อง
ขนาดเล็กอย่างไมโครคอมพิวเตอร์ เช่น ระบบปฏิบัติการดอส เป็นต้น

ประเภทใช้หลายงาน (Multi-tasking)

        ระบบปฏิบัติการประเภทนี้สามารถควบคุมการทำงานพร้อมกันหลายงานในขณะเดียวกัน ผู้ใช้
สามารถทำงานกับซอฟต์แวร์ประยุกต์ได้หลายชนิดในเวลาเดียวกัน โดยระบบปฏิบัติการจัดสรรทั้ง
เวลา และเนื้อที่ที่ต้องใช้ในการประมวลผลคำสั่งของซอฟต์แวร์แต่ละชนิด เช่น ระบบปฏิบัติการ 
Windows 98 ขึ้นไป และ UNIX เป็นต้น

ประเภทใช้งานหลายคน (Multi-user)

        ในหน่วยงานบางแห่งอาจใช้คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ทำหน้าที่ประมวลผล ทำให้ในขณะใดขณะ
หนึ่งมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์พร้อมกันหลายคน แต่ละคนจะมีสถานีงานของตนเอง

ตัวแปลภาษา

     ในการพัฒนาซอฟต์แวร์จำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการแปลภาษาระดับสูง 
เพื่อแปลภาษาระดับสูงให้เป็นภาษาเครื่อง ภาษาระดับสูงมีหลายภาษา ภาษาระดับสูง
เหล่านี้สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้เขียนโปรแกรมเขียนชุดคำสั่งได้ง่าย เข้าใจได้ ตลอดจนถึงสามารถ
ปรับปรุงแก้ไขซอฟต์แวร์ในภายหลังได้

     ภาษาระดับสูงที่พัฒนาขึ้นมาทุกภาษาจะต้องมีตัวแปลภาษาสำหรับแปลภาษา ภาษาระดับสูงซึ่ง
เป็นที่รู้จักและนิยมกันมากใน  ปัจจุบัน เช่น ภาษาปาสคาล ภาษาเบสิก ภาษาซี และภาษาโลโก

1) ภาษาปาสคาล เป็นภาษาสั่งงานคอมพิวเตอร์ที่มีรูปแบบเป็นโครงสร้าง เขียนสั่งงานคอมพิวเตอร์
เป็นกระบวนความ ผู้เขียนสามารถแบ่งแยกงานออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วมารวมกันเป็นโปรแกรมขนาด
ใหญ่ได้

2) ภาษาเบสิก เป็นภาษาที่มีรูปแบบคำสั่งไม่ยุ่งยาก สามารถเรียนรู้และเข้าใจได้ง่าย มีรูปแบบคำสั่ง
พื้นฐานที่สามารถนำมาเขียนเรียงต่อกันเป็นโปรแกรมได้

3) ภาษาซี เป็นภาษาที่เหมาะสำหรับใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์อื่น ๆ ภาษาซีเป็นภาษาที่มีโครงสร้าง
คล่องตัวสำหรับการเขียนโปรแกรมหรือให้คอมพิวเตอร์ติดต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ

4) ภาษาโลโก เป็นภาษาที่เหมาะสำหรับการเรียนรู้และเข้าใจหลักการโปรแกรมภาษาโลโกได้รับการ
พัฒนาสำหรับเด็ก

นอกจากนี้ยังมีภาษาคอมพิวเตอร์อีกมากมาย เช่น ภาษาฟอร์แทรน ภาษาโคบอล ภาษาอาร์พีจี

การทำงานของตัวแปลภาษา

        การประมวลผลโปรแกรมที่เขียนขึ้นด้วยภาษาระดับสูง จำเป็นต้องอาศัยโปรแกรมที่ทำหน้าที่ช่วย
ในการแปลโปรแกรมภาษาระดับสูงให้เป็นภาษาเครื่อง 

โปรแกรมแปลภาษาที่ใช้แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่

1. คอมไพเลอร์ (Compiler) เป็นโปรแกรมที่ทำหน้าที่ในการแปลโปรแกรมที่เขียนด้วยภาษาระดับสูงที่
เรียกว่า โปรแกรมต้นฉบับ (source code/program) ให้เป็นโปรแกรมภาษาเครื่อง (object program) 
ถ้ามีข้อผิดพลาดเครื่องจะพิมพ์รหัสหรือข้อผิดพลาดออกมาด้วย หากไม่มีข้อผิดพลาดผู้ใช้สามารถสั่ง
ประมวลผลโปรแกรมและสามารถเก็บโปรแกรมที่แปลภาษาเครื่องไว้ใช้งานต่อไปได้อีก โดยไม่ต้องทำ
การแปลโปรแกรมซ้ำอีก ตัวอย่างโปรแกรมแปลภาษาแบบนี้ เช่น โปรแกรมแปลภาษาฟอร์แทรน 
โปรแกรมแปลภาษาโคบอล โปรแกรมแปลภาษาปาสคาล โปรแกรมแปลภาษาซี เป็นต้น

2. อินเทอร์พรีเตอร์ (Interpreter) เป็นโปรแกรมที่ทำหน้าที่ในการแปลโปรแกรมที่เขียนด้วยภาษาระดับ
สูงให้เป็นภาษาเครื่องเช่นเดียวกับคอมไพเลอร์ ความแตกต่างจะอยู่ที่อินเทอร์พรีเตอร์จะทำการแปล
และประมวลผลทีละคำสั่ง ข้อเสียของอินเทอร์พรีเตอร์คือ ถ้านำโปรแกรมนี้มาใช้งานอีกจะต้องทำการ
แปลโปรแกรมทุกครั้ง ตัวอย่างภาษาที่ใช้อินเทอร์พรีเตอร์ในการแปล เช่น ภาษา HTML เป็นต้น


- ซอฟต์แวร์ประยุกต์ (application software)



        เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้กับงานด้านต่าง ๆ ตามความต้องการของผู้ใช้ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
โดยตรง ปัจจุบันมีผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ใช้งานทางด้านต่าง ๆ ออกจำหน่ายมากมาย การประยุกต์งาน
คอมพิวเตอร์จึงกว้างขวางและแพร่หลาย เราอาจแบ่งซอฟต์แวร์ประยุกต์ออกเป็นสองกลุ่มคือ 
ซอฟต์แวร์สำเร็จและซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นใช้งานเฉพาะ ซอฟต์แวร์สำเร็จในปัจจุบันมีมากมาย
 เช่น ซอฟต์แวร์ประมวลคำ ซอฟต์แวร์ตารางทำงาน ฯลฯ

ซอฟต์แวร์ประยุกต์

            เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการที่มีคอมพิวเตอร์ขนาด
เล็กทำให้มีการใช้งานคล่องตัวขึ้น จนในปัจจุบันสามารถนำคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กติดตัวไปใช้งานในที่
ต่าง ๆ ได้สะดวก   การใช้งานคอมพิวเตอร์ต้องมีซอฟต์แวร์ประยุกต์ ซึ่งอาจเป็นซอฟต์แวร์สำเร็จที่มีผู้
พัฒนาเพื่อใช้งานทั่วไปทำให้ทำงานได้สะดวกขึ้น หรืออาจเป็นซอฟต์แวร์ใช้งานเฉพาะซึ่งผู้ใช้เป็นผู้
พัฒนาขึ้นเองเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการทำงานของตน

1. ซอฟต์แวร์สำเร็จ

ในบรรดาซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่มีใช้กันทั่วไป ซอฟต์แวร์สำเร็จ (Package) เป็นซอฟต์แวร์ที่มีความนิยม
ใช้กันสูงมาก ซอฟต์แวร์สำเร็จเป็นซอฟต์แวร์ที่บริษัทพัฒนาขึ้น แล้วนำออกมาจำหน่าย เพื่อให้ผู้ใช้งาน
ซื้อไปใช้ได้โดยตรง ไม่ต้องเสียเวลาในการพัฒนาซอฟต์แวร์อีก ซอฟต์แวร์สำเร็จที่มีจำหน่ายในท้อง
ตลาดทั่วไป และเป็นที่นิยมของผู้ใช้มี 5 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

1) ซอฟต์แวร์ประมวลคำ เป็นซอฟต์แวร์ประยุกต์ใช้สำหรับการพิมพ์เอกสาร สามารถแก้ไข เพิ่ม แทรก 
ลบ และจัดรูปแบบเอกสารได้อย่างดี ปัจจุบันมีการเพิ่มขีดความสามารถของซอฟต์แวร์ประมวลคำอีกมากมาย

2) ซอฟต์แวร์ตารางทำงาน เป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการคิดคำนวณ การทำงานของซอฟต์แวร์ตารางทำ
งาน ใช้หลักการเสมือนมีโต๊ะทำงานที่มีกระดาษขนาดใหญ่วางไว้ มีเครื่องมือคล้ายปากกา ยางลบ และ
เครื่องคำนวณเตรียมไว้ให้เสร็จ บนกระดาษมีช่องให้ใส่ตัวเลข ข้อความหรือสูตร สามารถสั่งให้คำนวณ
ตามสูตรหรือเงื่อนไขที่กำหนด ซอฟต์แวร์ตารางทำงานที่นิยมใช้ เช่น Excel เป็นต้น

3) ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูล การใช้คอมพิวเตอร์อย่างหนึ่งคือการใช้เก็บข้อมูล และจัดการกับข้อมูลที่
จัดเก็บในคอมพิวเตอร์ จึงจำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์จัดการข้อมูล การรวบรวมข้อมูลหลาย ๆ เรื่องที่เกี่ยว
ข้องกันไว้ในคอมพิวเตอร์ เราก็เรียกว่าฐานข้อมูล ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลจึงหมายถึงซอฟต์แวร์ที่
ช่วยในการเก็บ การเรียกค้นมาใช้งาน การทำรายงาน การสรุปผลจากข้อมูล ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูล
ที่นิยมใช้ เช่น Access, Dbase

4) ซอฟต์แวร์นำเสนอ เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้สำหรับนำเสนอข้อมูล การแสดงผลต้องสามารถดึงดูดความ
สนใจ ซอฟต์แวร์เหล่านี้จึงเป็นซอฟต์แวร์ที่นอกจากสามารถแสดงข้อความในลักษณะที่จะสื่อ
ความหมายได้ง่ายแล้วจะต้องสร้างแผนภูมิ กราฟ และรูปภาพได้ ตัวอย่างของซอฟต์แวร์นำเสนอ 
เช่น เพาเวอร์พอยต์

5) ซอฟต์แวร์สื่อสารข้อมูล ซอฟต์แวร์สื่อสารข้อมูลนี้หมายถึงซอฟต์แวร์ที่จะช่วยให้ไมโครคอมพิวเตอร์
ติดต่อสื่อสารกับเครื่องคอมพิวเตอร์อื่นในที่ห่างไกล โดยผ่านทางสายโทรศัพท์ ซอฟต์แวร์สื่อสารใช้
เชื่อมโยงต่อเข้ากับระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เช่น อินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถใช้บริการอื่น ๆ เพิ่มเติม
ได้ สามารถใช้รับส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ใช้โอนย้ายแฟ้มข้อมูล ใช้แลกเปลี่ยนข้อมูล เป็นต้น

2. ซอฟต์แวร์ใช้งานเฉพาะ

            การประยุกต์ใช้งานด้วยซอฟต์แวร์สำเร็จมักจะเน้นการใช้งานทั่วไป แต่อาจจะนำมาประยุกต์โดย
ตรงกับงานทางธุรกิจบางอย่างไม่ได้ เช่นในกิจการธนาคาร มีการฝากถอนเงิน งานทางด้านบัญชี หรือใน
ห้างสรรพสินค้าก็มีงานการขายสินค้า การออกใบเสร็จรับเงิน การควบคุมสินค้าคงคลัง ดังนั้นจึงต้องมีการ
พัฒนาซอฟต์แวร์ใช้งานเฉพาะสำหรับงานแต่ละประเภทให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้แต่ละราย

            ซอฟต์แวร์ใช้งานเฉพาะมักเป็นซอฟต์แวร์ที่ผู้พัฒนาต้องเข้าไปศึกษารูปแบบการทำงานหรือ
ความต้องการของธุรกิจนั้น ๆ แล้วจัดทำขึ้น โดยทั่วไปจะเป็นซอฟต์แวร์ที่มีหลายส่วนรวมกันเพื่อร่วม
กันทำงาน ซอฟต์แวร์ใช้งานเฉพาะที่ใช้กันในทางธุรกิจ เช่น ระบบงานทางด้านบัญชี ระบบงานจัดจำ
หน่าย ระบบงานในโรงงานอุตสาหกรรม บริหารการเงิน และการเช่าซื้อ

ซอฟต์แวร์มีการแพร่หลายใช้ทั่วไปได้อย่างไร โปรแกรมมีให้ใช้ในหลายรูปแบบ ได้แก่ 

- Package software เป็น ซอฟต์แวร์ชุดสำเร็จใช้กับงานทั่วไป 
- Custom software เป็น ซอฟต์แวร์พัฒนาเพื่องานเฉพาะด้าน
- Shareware ซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์แต่ให้ใช้ฟรีในระยะหนึ่ง
- Freeware ซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ที่ส่วนบุคคล หรือองค์กรผลิต เพื่อให้ใช้ฟรี
- Public-domain software เป็นซอฟต์แวร์ที่ไม่มีลิขสิทธิ์ ให้ใช้ฟรี

อ้างอิง:https://sites.google.com/site/informationsaparachineeschool/prachasamphanth-kickrrm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น